Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Financial Planning
ส่งต่อทรัพย์สินให้ลูกอย่างไรดี
การส่งต่อทรัพย์สินให้กับทายาทเป็นเรื่องหนึ่งที่หลายท่านไม่ได้คำนึงถึง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ค่อยมาคิดในช่วงที่เกษียณอายุแล้วก็ได้ แต่จริงๆ แล้วการวางแผนเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจะช่วยให้การจัดสรรทรัพย์สินมีความชัดเจนและบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น โดย K-Expert มีข้อแนะนำสำหรับการส่งต่อทรัพย์สินต่างๆ ดังนี้ค่ะ
1. อสังหาริมทรัพย์

โดยปกติแล้ว เมื่อมีการโอนอสังหาฯ จากบุคคลหนึ่งไปให้อีกบุคคลหนึ่ง จะเสมือนเป็นการขายอสังหาฯ ทำให้ผู้โอนต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งมอบอสังหาฯ จากพ่อแม่ไปสู่ลูกนั้น ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ยังมีค่าใช้จ่ายในการโอนอสังหาฯ อยู่ โดยการส่งมอบอสังหาฯ ให้กับลูกในลักษณะมรดกเมื่อตนเองเสียชีวิตไปแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการโอนให้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเมื่ออสังหาฯ ตกเป็นมรดกให้กับลูกคือ ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนมรดก 0.5% ของราคาประเมิน ส่วนการโอนอสังหาฯ ให้ลูกขณะที่มีชีวิตจะเสียค่าใช้จ่าย 1% ของราคาประเมิน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนให้ 0.5% ของราคาประเมิน และค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมิน

2. หุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ถ้าพ่อแม่ต้องการโอนหุ้นให้กับลูกขณะที่มีชีวิตอยู่ สามารถทำได้โดยไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยบริษัทหลักทรัพย์จะคิดค่าธรรมเนียมในการโอนหลักทรัพย์ละ 20-100 บาท (ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์) และจะทำได้เมื่อลูกบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ถ้าต้องการโอนหุ้นให้ลูกในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ สามารถทำได้โดยให้ทางศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ออกใบหุ้นให้ แล้วพ่อแม่โอนสลักหลังใบหุ้นให้เป็นกรรมสิทธิ์ของลูก ทั้งนี้ กรณีพ่อแม่เสียชีวิต และได้ทำพินัยกรรมระบุว่า ต้องการส่งต่อหุ้นให้กับลูกก็สามารถโอนหุ้นได้ด้วยเช่นกัน โดยต้องให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ดำเนินการโอนหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ให้กับทายาท

3. กองทุนรวม

สำหรับการโอนกองทุนรวมให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นการโอนขณะพ่อแม่มีชีวิต หรือเสียชีวิตไปแล้ว จะทำได้เมื่อลูกบรรลุนิติภาวะหรืออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เยาว์ขาดทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง โดยสามารถติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เป็นผู้บริหารกองทุน อย่างไรก็ตาม หากเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีได้แก่ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะไม่สามารถโอนกองทุนได้ จึงต้องทำการขายกองทุน แล้วโอนเงินสดให้กับลูกแทน

4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การโอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราไปให้กับบุคคลอื่นขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นหากพ่อแม่ต้องการโอนกองทุนฯ ไปให้ลูก จะต้องนำเงินออกมาจากกองทุนฯ เพื่อมอบให้กับลูก ทั้งนี้ หากนำเงินออกจากกองทุนฯ ก่อนที่พ่อแม่จะอายุครบ 55 ปี ต้องนำเงินส่วนที่ได้รับจากนายจ้างและผลประโยชน์ของส่วนที่เราสะสมเข้ากองทุนฯ มาเสียภาษีอีกด้วย ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่แนะนำให้นำเงินออกมาก่อนอายุ 55 ปีค่ะ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่สามารถระบุให้ลูกเป็นผู้รับผลประโยชน์ของกองทุนฯ หากตนเองเสียชีวิต โดยระบุชื่อของลูกให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ในตอนแรกที่เปิดบัญชีกองทุนฯ ได้เลย แต่ถ้าไม่ได้ระบุ เมื่อเราเสียชีวิต เงินจากกองทุนฯ จะถูกแบ่งให้ลูก 2 ส่วน (แต่ถ้ามีลูกตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปให้ได้รับ 3 ส่วน) คู่สมรสให้ได้รับ 1 ส่วน และบิดามารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับ 1 ส่วน

5. ประกันชีวิต

เงินที่อยู่ในประกันชีวิต หากต้องการโอนให้กับผู้อื่นรวมทั้งคนในครอบครัวขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จะไม่สามารถทำได้ สิ่งที่ทำได้คือ การเวนคืนกรมธรรม์เพื่อให้ได้เงินสดออกมา แล้วส่งมอบต่อไปให้กับทายาท อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่ทำประกันชีวิต แล้วเสียชีวิต และระบุให้ลูกเป็นผู้รับประโยชน์ ลูกจะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ปรากฏในหน้าตารางกรมธรรม์ โดยสามารถติดต่อกับบริษัทประกันชีวิตเพื่อขอรับเงินจำนวนดังกล่าวค่ะ หากทรัพย์สินส่วนไหนที่ตั้งใจจะส่งมอบให้กับลูกในลักษณะของมรดกเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว แนะนำให้จัดทำพินัยกรรมไว้ก่อน เพราะจะทำให้การถ่ายโอนทรัพย์สินทำได้ง่ายและสะดวกกว่าการให้ลูกไปรับโอนทรัพย์สินเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้วค่ะ

ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับ “ส่งต่อทรัพย์สินให้ลูกอย่างไรดี” ได้ที่ www.askKBank.com/K-Expert หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert

 

AUTHOR


ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษา
ลูกค้าบุคคล (K-Expert)

RELATED STORY